Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

หัวใจเต้นช้า รักษาได้ด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

5 ม.ค. 2567



หัวใจเต้นผิดจังหวะ
   หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการนำกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งแพทย์สามารถวิเคราะห์ได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
หัวใจเต้นผิดจังหวะมักมีอาการ
  • เวียนศีรษะ
  • หน้ามืด ตาลาย
  • ใจสั่น
  • เป็นลม หมดสติ
การรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker implantation)
   คือ การเพื่อฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปใต้ชั้นไขมันและใส่สายไฟเข้าไปยึดกับห้องหัวใจของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้หัวใจเต้นในอัตราเร็วที่เหมาะสม โดยทั่วไปใช้ในคนที่หัวใจเต้นช้า หรือมีการนำไฟฟ้าผิดปกติของห้องหัวใจ ช่วยลดอาการของหัวใจเต้นช้าจากสาเหตุต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม
ชนิดของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมี 2 ชนิด
  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดชั่วคราว (Temporary pacemaker)
  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร (Permanent pacemaker)
การเลือกเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจขึ้นกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นขณะนั้น ร่วมกับดุลยพินิจของแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
การเตรียมตัวก่อนใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • งดยาตามแพทย์แนะนำ
  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนฝังเครื่อง
  • ถอดอุปกรณ์และเครื่องประดับต่างๆเก็บไว้ที่ห้องพัก
  • เจ้าหน้าที่จะโกนขนบริเวณหน้าอกข้างที่จะใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (แพทย์นิยมใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแขนข้างที่ผู้ป่วยไม่ถนัด)
  • พยาบาลจะเปิดเส้นเลือด เพื่อให้น้ำเกลือบริเวณข้อมือด้านใดด้านหนึ่ง
ขั้นตอนการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • เปิดแผล และทำช่องว่าใต้ชั้นไขมันให้ใหญ่เพียงพอสำหรับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • ใส่สายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปตามเส้นเลือด และไปยึดกับกล้ามเนื้อหัวใจในแต่ละห้อง
  • เชื่อมต่อสายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเข้าด้วยกัน
  • นำเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจใส่ไว้ในช่องว่างใต้ผิวหนัง จากนั้นเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดจากปลายเข็มที่ใช้เป็นตัวนำทางสายไฟโดนยอดปอด ซึ่งพบได้น้อย
  • ในระยะสั้น แผลบริเวณใส่เครื่องอาจมีอาการบวมช้ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาป้องกันเลือดแข็งตัวร่วมด้วย
  • สายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเลื่อน หรือหลุดออกจากตำแหน่ง สามารถพบได้น้อยเนื่องจากมีการตรวจสอบหลายขั้นตอนก่อนเชื่อมต่อสายเข้ากับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • การติดเชื้อของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจและสายไฟ มักมีปัจจัยเสี่ยงทางโรคประจำตัวบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงนี้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการใช้ยาปฏิชีวะนะก่อนและหลังทำหัตถการ
ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวต้องอาศัยการสังเกตร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ เพื่อความรวดเร็วในการตรวจพบและแก้ไขปัญหาหากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น 
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • พักฟื้น 2 - 3 วัน สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
  • 2 วันแรกให้ต้นแขนข้างที่ผ่าตัดแนบชิดลำตัวตลอด
  • 3 วันถึง 1 เดือนยกแขนสูงได้ไม่เกินระดับไหล่ ไม่ยกของหนักเกิน 3 กิโลกรัม
  • 1 เดือนสามารถยกแขนได้ตามปกติ
  • กีฬาที่ควรหลีกเลี่ยงใน 3 เดือนแรก ได้แก่ ตีเทนนิส หรือตีกอล์ฟ
  • การดูแลแผลผ่าตัด ถ้าผ้าปิดแผลสกปรกหรือหลุด ไม่ให้ทำแผลเอง ให้กลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ห้ามแกะหรือเกาแผลผ่าตัด เพราะทำให้แผลติดเชื้อได้
  • มาพบแพทย์เพื่อตรวจดูแผลผ่าตัดตามนัด
  • รีบพบแพทย์หากบริเวณแผลที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มีอาการปวด บวม หรือมีอาการที่สงสัยเกิดจากการทำงานของเครื่องผิดปกติ
  • ควรพกบัตรประจำตัวผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเสมอ
อุปกรณ์ที่ควรหลีกเลี่ยง
  • เครื่องบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Ab stimulator)
  • เครื่องวัดมวลไขมัน (Electronic body fat scale)
  • ที่นอนแม่เหล็ก ผ้าห่มแม่เหล็ก หมอนแม่เหล็ก
   การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่เคยได้ยินกัน สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้ใกล้เคียงปกติ เช่นโทรศัพท์มือถือ ขับรถไม่ว่าจะเป็นรถสันดาบ หรือรถไฟฟ้า การฟังเครื่องเสียง หรือการใช้เครื่องดูดฝุ่น
 
มั่นใจในการรักษากับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
   โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่พร้อมในการดูแล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก และมีอาการซับซ้อน เพื่อให้การรักษาและการช่วยชีวิตผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติและมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ แพทย์เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.